แคมป์ บอลสมองเท้าซ้าย
จริงๆ แล้ว สรรวัชญ์ไม่ได้ถนัดเท้าซ้าย / ตอนเด็กเขานิสัยตุ้งติ้งเหมือนผู้หญิงจนโดนล้อ / นักเตะผู้เสเพล กินเหล้าต่างน้ำ / ร้องไห้หนักเพราะฟุตบอล / ถ้าเกลียดผม ก็ลองมาคุยกัน / เรียกผมว่า “หนู คลองเตย” เถอะ ถ้าคุณอยากจะเรียก
“แคมป์” สรรวัชญ์ เดชมิตร คุยกับผมเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ก่อนเขาบินไปประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมทีมชาติไทย เพื่อลงสนามเกมเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 รอบแรก ซึ่งเสมอกัน 1-1 ก่อนสุดท้าย “ทัพช้างศึก” จะตกรอบรองชนะเลิศ ไม่สามารถก้าวขึ้นไปป้องกันแชมป์อาเซียน สมัยที่ 3 ติดต่อกันได้


“จำนวนเวลาการคุยที่เกือบมากพอสำหรับเกมฟุตบอลสักคู่หนึ่ง มันทำให้ผมรู้จัก “แคมป์” มากขึ้น เนื้อหาการคุย วนเวียนอยู่กับเรื่องชีวิตของเขา
อันที่จริง ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้ลง ในวันที่เขาประสบความสำเร็จ ชูถ้วยแชมป์ พร้อมรับตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยม
ผมหวังไว้อย่างนั้นนะ แต่ดูเหมือนว่า มันจะเป็นความหวังที่ดูเพอร์เฟคเกินไป แต่ก็อย่างที่ที่เคยได้ยินกัน
“โนบอดี้ เพอร์เฟค”
เพราะไม่มีใครหรอก ที่จะเพอร์เฟคไปซะทุกอย่าง….”
สรรวัชญ์ เดชมิตร เกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ 29 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ “วิชะยา”
คุณพ่อของเขา (อเนก เดชมิตร) เป็นข้าราชการ และเป็นโค้ชของทีมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ส่วนคุณแม่ ทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้า แล้วนั่งรถตู้ของบริษัทไปทำงาน
ลูกชายคนเดียวคนนี้ จึงต้องถูกส่งไปให้ คุณป้า และคุณยายเลี้ยงตั้งแต่เด็ก ที่บ้านแถวเมืองทองธานี
“แคมป์” อาศัยอยู่กับลูกของป้าอีกสองคน ซึ่งเป็นผู้หญิง
จากการถูกเลี้ยงรวมกับเด็กผู้หญิง เขายอมรับเองว่า ตอนเด็ก เขาตุ้งติ้งมากพอที่ผู้ใหญ่จะล้อจะแซว
บางครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ เวลาที่คุณพ่อพาเขาไปที่สนามฟุตบอล นักฟุตบอลก็จะล้อเขาว่า “แคมป์ โตขึ้น เอ็งจะเป็น.. (เพศที่สาม) หรือเปล่าเนี่ย”
ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาถูกย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดศรีเอี่ยม โรงเรียนในกรุงเทพ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการ ตอนช่วงประถมศึกษาตอนต้น นั่นทำให้เขามีเพื่อนใหม่ มีเพื่อนผู้ชาย มีสังคมใหม่ และเริ่มต้นเตะบอล ด้วย “เท้าขวา” ซึ่งเป็นเท้าที่เขาถนัดจริงๆ
คุณพ่อของเขาซึ่งเป็นโค้ช รู้สึกชอบใจทันทีที่เห็นลูกชายเริ่มเตะบอล โดยในทีมที่คุณพ่ออเนกเป็นโค้ช มีนักเตะถนัดซ้ายหาตัวจับได้ยากคนนึง นั่นคือ โกวิทย์ ฝอยทอง แข้งดีกรีทีมชาติไทย ซึ่งเคยไปค้าแข้งถึงในระดับลีกล่างของเยอรมันมาแล้ว
อเนก เดชมิตร ถามลูกชายว่า “เอ็งชอบเล่นฟุตบอลไหม”
วิชะยา เดชมิตร ตอบแบบไม่ได้คิดอะไร “ชอบครับ”
“งั้นเอ็งต้องฝึกเท้าซ้าย เอ็งจะได้แตกต่าง”
วิชะยา เริ่มฝึกฟุตบอลด้วยเท้าซ้าย แบบไม่คิดอะไร ตามที่พ่อแนะนำ โดยที่ไม่รู้ว่า คำตอบที่บอกว่า “ชอบครับ” จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล
เทอม 2 ของ ป.3 คุณพ่อผลักดันวิชะยา ให้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนกีฬากรุงเทพฯ เนื่องจากทำงานอยู่ตรงกองการกีฬา อาคารกีฬาเวสน์ สนาม ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
เรื่องของเรื่อง เขาไม่ได้บอกพ่อว่า คำว่า “ชอบครับ” นั้น เขาแค่ตอบไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้อยากเป็นนักฟุตบอลจริงๆ แค่ตอบตามความรู้สึกของเด็กว่า ชอบเตะบอล เพราะทำให้มีเพื่อน แถมก็ไม่ได้ฝึกเท้าซ้ายจริงจังด้วย เขาเดาะบอลได้ยังไม่ถึง 3 ครั้งเลยด้วยซ้ำ
“พี่เชื่อไหมว่า ผมอยู่ได้แค่เดือนเดียว ผมร้องไห้ทุกวัน เพราะต้องซ้อมทุกวัน ผมไม่คิดว่าจะต้องมาซ้อมฟุตบอลให้เก่ง ผมแค่อยากเล่นมันเฉยๆ ผมเข้าไปตอน ป.3 เทอมสอง สิ่งที่เจอคือ ทุกคนคิดว่าผมเป็นเด็กเส้น จริงๆ ก็คือใช่นั่นแหละ เพราะแม้แต่เดาะบอลผมยังทำไม่ได้เลย”
“ผมโดนแกล้งทุกอย่าง จนผมไม่อยากอยู่แล้ว ทุกวันอาทิตย์ตอนที่พ่อขับรถมาส่งที่หอ เวลากำลังจะลงจากทางด่วน ผมก็จะหลอกพ่อว่า ผมท้องเสียบ้าง ผมไม่สบายบ้าง ตอนแรกๆ เขาก็เชื่อแหละ แต่ตอนหลัง เขาเริ่มรู้แล้ว ผมก็คิดว่า ทำไมพ่อใจร้ายจัง”
“มีอยู่ครั้งนึง ผมกำลังซ้อมบอลอยู่ ผมเห็นพ่อแอบดูอยู่หลังเสา ผมรีบวิ่งไปหาพ่อ ตะโกนให้พ่อมารับกลับบ้าน แต่สิ่งที่เขาทำคือ เขามองผม หันหลัง เดินไปขึ้นรถ แล้วขับไปเลย โค้ชก็วิ่งมาล็อกตัวผม พากลับไปซ้อม ผมก็ดิ้นๆ แล้วตะโกนว่า นั่นพ่อผม นั่นพ่อผม ให้เขาพาผมกลับบ้าน ผมไม่อยากซ้อมแล้ว”
ทวิช ไกลถิ่น, เชิดศักดิ์ ศรีหิรัญ และ สุรศักดิ์ ใจมั่น คือ สามโค้ชที่แคมป์บอกว่า คุณพ่อได้ฝากฝังเอาไว้ตอนที่เขายังเด็ก ซึ่งนั่นทำให้แคมป์ถูกฟูมฟักอย่างดีจากโค้ช
และเมื่อหันหลังกลับไม่ได้
เด็กชายวิชะยา ก็เลือกเดินหน้าแบบที่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์
แคมป์เริ่มฝึกฟุตบอล เท้าซ้ายบ้าง เท้าขวาบ้าง แต่เขาก็เชื่อว่า หากฝึกเท้าซ้ายแล้วจะทำให้มีโอกาสได้ลงสนามมากขึ้น
ฉะนั้น เขาจึงใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก
แคมป์เริ่มต้นทุกอย่าง ตั้งแต่ เดาะบอล แปบอล ยิงบอล
เขาเริ่มต้นตอนอายุประมาณ 10-11 ขวบ
ฝึกเช้า ฝึกเย็น จากเดาะไม่ได้ก็เริ่มเดาะได้ จากแปไม่ตรง ก็เริ่มแปบอลได้ตรง
“เมื่อหันหลังกลับไม่ได้ เขาก็บอกให้ตัวเองเดินหน้า
เขาไม่ใช่แข้งเท้าซ้ายพรสวรรค์ที่ฟ้าประทานมาอย่างใครคิด
แต่เขาเป็นคนที่ถนัดมือขวา
ทว่าเลือกเตะเท้าซ้าย ด้วยพรแสวง”
“ผมอยู่โรงเรียนกีฬากรุงเทพฯ รุ่นเดียวกับ เจษฎา ชูเดช (นักฟุตซอลทีมชาติไทย) จากที่เป็นเด็กโดนแกล้งตลอด ถูกมองว่าเด็กเส้น ก็กลายเป็นหัวโจก เป็นตัวจริงของโรงเรียน เพราะเราเล่นเท้าซ้ายได้ ทำให้ดูแตกต่างอย่างที่พ่อเคยบอก”
แต่เขาก็เก่งแค่ในโรงเรียนเท่านั้น…
“ตอนอยู่โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร ผมเคยแพ้ทีมโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี เป็น 10 ลูกเลยนะ โหย ชุดนั้น มีทั้ง ธีรศิลป์ แดงดา, ประกิต ดีพร้อม, ศักรินทร์ จันทร์โยธา ฯลฯ ตอนนั้นผมอยู่ ม.5 แบกอายุปีนึงเล่นรุ่น 18 ปี คิดดูสิ ขนาดเล่นฟุตบอลนักเรียนยังแพ้ขาดลอย แล้วผมจะไปหวังอะไรกับการติดทีมชาติไทย”
“ตอนนั้น ผมไม่คิดอะไรเลยนะ หลังจากเรียนจบจะไปไหนต่อ ผมไม่เคยคิดเลย เพราะคิดว่าฝีเท้ายังห่างไกล ตอนนั้นผมเที่ยวยับเลย อายุยังไม่ถึง 18 ปี ก็แอบเข้าผับแล้ว อยู่หอใจกลางเมือง ผมไปหมดครับ ทั้งโต๊ะสนุ้ก ทั้งร้านเหล้า เรื่องเรียนก็ไม่เอาอ่าว”
“ต่อมาผมได้โอกาสไปเล่นฟุตบอลที่ ม.เกษมบัณฑิต เพราะได้โควตา เนื่องจากรู้จักกับโค้ช ซึ่งผมก็ไม่คิดอะไรหรอก แค่ให้มีที่เรียน มีที่ให้เตะบอลไปวันๆ ก็พอแล้ว แล้วผมก็ทำตัวเหมือนเดิม ไม่เรียนเลย ติดเอฟเกือบทุกตัว ได้เล่นดิวิชั่น 2 กับทีม ม.เกษมบัณฑิต อยู่ 2-3 แมตช์มั้ง เกเรมากๆ กินเหล้ายันเช้า โดดเรียนตื่นบ่าย วิถีชีวิตเป็นแบบนี้อยู่เกือบปี”
จนกระทั่งวันนึง คุณพ่อของเขาเห็นท่าไม่ดี และเหนื่อยใจกับลูกชายคนนี้เหลือเกิน จึงพูดกับลูกชายตรงๆ ว่าจะเอาดีทางเรียน หรือฟุตบอล…
“ตอนนั้น เรื่องเรียนไม่ต้องพูดถึง เกรด 0 กว่า เพราะเอฟเกือบทุกตัว ยังไงก็โดนรีไทร์ ส่วนฟุตบอลก็แทบไม่ได้ซ้อมเลย ผมไม่ได้เตะบอลจริงจังเลยประมาณ 9-10 เดือน สภาพร่างกายแย่มาก ผมเลยไม่รู้จะเอาดีทางไหนได้ แต่ผมก็คิดนะว่า เราจะเริ่มตั้งใจฝึกซ้อมบอลมาทำไมตั้งแต่ ป.3 ป.4 ถ้าทุกอย่างมันจะจบลงแค่นี้”
“ผมมองไปที่พ่อแม่ที่เขากำลังเหนื่อยใจกับเรา และกลับมามองตัวเอง ซึ่งโทรมมากๆ ผอม ผมยาว นอนเช้า ตื่นบ่าย สุดท้าย คุณพ่อผมก็ได้คุยกับ อาจารย์ณรงค์ (โค้ชประตูของ แทมปิเนส โรเวอร์ส ซึ่งมี วรวรรณ ชิตะวณิช คุมทีมอยู่) แล้วเขาก็ให้โอกาสผม ไปทดสอบฝีเท้า 3 เดือนที่สิงคโปร์ แต่พ่อกับแม่ของผม ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด”
“ผมกลับมาถามแม่ว่า แม่ไหวไหม ส่งแคมป์ไปทดสอบฝีเท้า แม่บอกว่า ถ้าลูกรักฟุตบอลจริงๆ แล้วจะเลิกทำตัวสำมะเลเทเมาจริงๆ ต่อให้แม่ไม่มีกิน แม่ก็จะส่งลูกไป แค่ลูกสัญญากับแม่ว่า ลูกจะตั้งใจทำมันเต็มที่”
“แล้วผมก็ได้ไปทดสอบฝีเท้าที่สิงคโปร์ ผมไปที่นู่น ก็เหมือนเดิม เหมือนตอนเด็กๆ ผมร้องไห้ทุกวัน ผมถูกมองว่าเป็นเด็กเส้น เพราะรู้จักกับโค้ช ผมไม่ได้ภาษาเลย ผมไม่เคยตั้งใจเรียน ผมไม่มีเพื่อนเหมือนตอนอยู่กรุงเทพฯ”
“การที่ผมไม่ได้เตะบอลมานาน แล้วต้องไปซ้อมหนักแบบที่นักฟุตบอลอาชีพต้องทำ ผมอยู่ในทีมเดียวกับนักเตะระดับทีมชาติสิงคโปร์หลายคน ทั้ง มุสตาฟิค ฟาห์รุดดี (เชื้อสายเซอร์เบีย), นอห์ อลัม ชาห์ (กองหน้าระดับตำนาน) และ ฮัสซัน ซันนี่ (ผู้รักษาประตูที่เล่นในไทยลีก) ทุกอย่างมันยากมาก เค้าระดับทีมชาติสิงคโปร์ แล้วผมหล่ะเป็นใคร แค่เด็กที่เพิ่งผ่านอายุ 18-19 ปี ไม่นาน ผมโดนเตะล้มกลิ้งล้มหงายทุกวัน ผมจะได้ยินเสียง อาจารย์ณรงค์ และ อาจารย์ป้ำ บอกว่า แคมป์ลุกเว้ย สู้เว้ยแคมป์ ไม่สู้ก็ต้องกลับบ้านนะ ที่แม่ส่งมาทั้งหมด จะหายไปเลยนะ”
“ค่าความเสี่ยงของการลงทุน
หากหักลบด้วยความรักที่แท้จริงต่อลูกชาย
สิ่งที่เหลือ มันไม่เคยขาดทุน”
และแล้วค่าใช้จ่ายกว่า 3-4 แสนบาท ตลอดระยะเวลา 3 เดือนในการทดสอบฝีเท้า ของ วิชะยา เดชมิตร ก็ตอบแทนคุณแม่ของเขา เพราะวิชะยาได้สัญญากับทางสโมสรแทมปิเนส โรเวอร์ส จำนวน 1 ปี
เขารีบโทรหาแม่ และกลับมาเคลียร์เรื่องเอกสาร ก่อนกลับไปเล่นฟุตบอลอาชีพอีกครั้ง ในแบบเริ่มต้นนับหนึ่ง
เขาได้เงินเดือนแค่ประมาณ 30,000 บาท ในช่วงแรก แน่นอน มันไม่พอสำหรับการใช้จ่ายที่สิงคโปร์ หนึ่งในประเทศที่ค่าครองแพงที่สุดในโลก นั่นทำให้ แคมป์ยังต้องขอเงินของคุณแม่อยู่
คุณแม่ที่เพิ่งทำงานนับปี เพื่อให้ได้เงินพอสำหรับให้เขาไปทดสอบฝีเท้าที่สิงคโปร์ จำนวน 3 เดือน
คุณแม่ที่อดทนเพื่อให้ลูกได้เดินหน้าต่อในอาชีพที่ตนเองรัก
ตอนเด็กๆ เขาอาจจะเคยหลอกพ่อแม่ว่าไม่สบาย เพื่อให้ตนเองไม่ต้องซ้อมบอลที่ รร.กีฬากรุงเทพฯ
แต่พอโตขึ้น เขาต้องหลอกพ่อแม่ว่า “สบายดี” แม้จะต้องกินข้าวกับกิมจิที่ซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ตัวเองได้ประหยัดที่สุด และต้องขอเงินคุณแม่ให้น้อยที่สุด ในแต่ละเดือน
จากนั้น 1 ปี วิชะยา เดชมิตร เริ่มได้รับการยอมรับจากนักเตะชาวสิงคโปร์ รวมถึงนักเตะไทยที่อยู่ที่นั่น
จนเมื่อหมดสัญญา เขาก็ได้โอกาสกลับบ้านมาอยู่กับ บางกอกกล๊าส เอฟซี ในช่วงที่ฟุตบอลไทยเริ่มบูมขึ้น แต่คำว่า “เด็กเส้น” ก็กลับมาหลอกหลอนเขาอีกครั้ง เพราะไม่มีใครที่รู้จักเขา
แฟนบอลมากมาย งงงวยกับชื่อ “วิชะยา เดชมิตร”
หลายคนเชื่อว่า เขาเป็นเด็กเส้นของ “โค้ชง้วน” สุรชัย จตุรภัทรพงษ์ ที่เคยทำงานที่สโมสร โฮม ยูไนเต็ด ก่อนกลับเมืองไทยมาอยู่กับ บีจี ซึ่งดึง สุธี สุขสมกิจ กลับมาด้วย
“ตอนกลับมาแรกๆ ผมตกใจมากเลยนะ ฟุตบอลไทย เติบโตขึ้นเยอะมาก ผมได้เล่นกับ รุ่งโรจน์ สว่างศรี, อนนท์ บุญสุโข, อำนาจ แก้วเขียว, ไกรเกียรติ เบียดตะคุ นักเตะระดับตำนานของไทยลีกเลย แต่ผมก็โดนมองว่าเป็นเด็กเส้นเหมือนเดิม ผมติดทีมชาติไทย ชุดเอเชี่ยนเกมส์ 2010 ผมติดทีมชาติไทย ชุด เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2010 ผมได้ลงเล่นในไทยลีกกับ บางกอกกล๊าส ทุกวันทุกนัด ผมมักจะโดนดูถูกว่าเป็นเด็กเส้น”
“เด็กเส้นได้ลงอีกแล้ว เด็กเส้นติดทีมชาติไทยได้ยังไง … ครั้งนึง พี่เบิร์ท (สุธี สุขสมกิจ) เคยบอกผมว่า เอ็งไม่ต้องสนใจอะไรเยอะ เอ็งตั้งใจซ้อมไปเถอะ ต่อให้แดดฝนหรือพายุโถมเข้ามา เอ็งก็ต้องผ่านไปให้ได้ เอ็งมาขนาดนี้แล้ว เอ็งจะเลิกเล่นเหรอ สู้สิวะ”
“ผมเคยถูกนักข่าวถามเมื่อตอนปี 2010 ว่า รู้สึกอย่างไรที่แฟนบอลมองว่าเป็นเด็กเส้น ผมคิดในใจ ไอ้เชี่ย คำนี้อีกแล้วเหรอ ผมถูกมองแง่ลบมาตลอด ยิงจุดโทษไม่เข้า โดนใบแดง ทุกอย่างในเกมฟุตบอล คือ ผมผิดหมด”
จากนั้น ชื่อของวิชะยา เดชมิตร ก็ค่อยๆ หายไป จนหายไปจากโลก เขากลายเป็นนักเตะโนเนมชั่วข้ามคืน ที่มีโอกาสลงสนามเพียงหยิบมือ
หลังจากนั้น เขาได้ย้ายไปอยู่กับ บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาได้เล่นร่วมกับ รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค ไอดอลของเขา รวมถึงยังได้เล่นกับ “เจ ตั้ม บาส” รุ่นน้องของเขาที่โรงเรียนกีฬากรุงเทพฯ ด้วย
ปลายปี 2014 เขาเปลี่ยนชื่อจาก วิชะยา เป็น สรรวัชญ์
ในสมัยที่ย้ายมาเล่นให้กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด
ซึ่งคาแรกเตอร์ของเขาก็ทำให้ทุกคนลืมชื่อ วิชะยา
และจดจำเขาในชื่อใหม่ คือ สรรวัชญ์
แต่ก็ขึ้นอยู่ว่า แต่ละคนจะจดจำเขาแบบไหน
ในเรื่องฟอร์มการเล่น ที่มีคลาสฟุตบอลเหนือๆ
ในเรื่องของจังหวะจ่ายบอล และคิลเลอร์พาสส์ ที่สุดยอด
ในเรื่องคาแรกเตอร์กวนๆ ที่ทำให้แฟนบอลไม่น้อยเกลียดเขา
ในเรื่องการเป็นพ่อหนุ่มสายปาร์ตี้
“ผมเป็นคนชอบดูนักฟุตบอลสไตล์ชอบจ่ายบอลมากกว่ายิงนะ ถ้าในเมืองนอก ก็อย่าง เดวิด เบ็คแฮม, ชาบี อลอนโซ่, ชาบี เอร์นานเดซ หรือ โทนี่ โครส แต่ในเมืองไทย ผมชอบ มาริโอ ยูรอฟสกี้ ที่สุด ผมว่าเค้าเก่งมากๆ เลยนะ”
“มาริโอ มีความเป็นศิลปิน มีความเกรียน มีความติสต์ เขามีคาแรกเตอร์บางอย่างในสนามฟุตบอล ซึ่งอาจจะทำให้คนไม่ชอบ อยู่ดีๆ ก็ดีใจถอดกางเกง แต่มันคือในเกมฟุตบอลเท่านั้น เหมือนกับผมนั่นแหละ ผมเลยอยากจะบอกว่า จริงๆ แล้ว คุณจะเกลียดคาแรกเตอร์ของผมในสนามก็ได้ แต่ถ้าคุณเกลียดผมนอกสนามด้วย ผมว่า มันไม่ใช่ละ”
“ถ้าคุณรู้จักผมนอกสนาม คุณอาจจะเป็นเพื่อนรักกับผมก็ได้นะ ผมมีเรื่องจะเล่่าให้ฟัง มีแฟนบอลคนนึง เคยเกลียดผมมาก ผมเลยบอกเขาว่า พี่ลองถอดรูปที่เคยเห็นผมในสนามออก แล้วลองมาคุยกันดีๆ คุยกันตรงๆ ไปเลย ปรากฏว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปเลยนะ เขาบอกผมว่า แคมป์ทำให้ผมรู้จักฟุตบอลมากขึ้น ผมขอบคุณมาก ที่ผมได้รู้จักกับคุณ ผมบอกเค้าไปว่า ผมไม่ได้ต้องการให้พี่มาบอกแบบนี้นะ แต่ผมอยากจะบอกว่า นักฟุตบอลอะ มันไม่ได้เป็นแบบนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่เค้าเกลียดเลย นอกสนามก็เป็นอีกแบบ อย่าเพิ่งเกลียด อย่าเพิ่งด่า”
“อย่างตอนผมติดทีมชาติไทย ในยุคของ มิโลวาน ราเยวัช ตอนแรกๆ คนก็ด่าผม อย่างนั้นอย่างนี้ เรียกผมว่า หนู คลองเตยบ้างแหละ ปลาคาร์ฟ เชิญยิ้มบ้างแหละ ผมก็ไม่ได้อยากให้คนมาชอบตัวตนของผมนะ หรือคุณจะอยากแซวผมว่า หนู คลองเตย คุณก็เรียกไปเถอะ แต่ไม่ใช่ว่า คุณไม่ชอบผมแล้ว คุณจะไม่เชียร์ทีมชาติไทย”
“บางคนบอกผมว่า เลิกเชียร์แล้ว ยุคนี้นักฟุตบอลมันไม่หล่อ หน้าเหมือน หนู คลองเตย ถ้าอย่างนั้น ต่อไปนักฟุตบอลคงไม่ต้องซ้อมบอลละ บินไปทำหน้าที่เกาหลีดีกว่า แพ้ก็ไม่เป็นไร”
“พอไม่มี เจ มุ้ย ตอง แล้วคุณจะไม่เชียร์บอลไทยเหรอ นักฟุตบอลเขาลงไปทำหน้าที่ในสนาม เขาก็ทำเต็มที่เพื่อชาติทั้งนั้น เชียร์ทีมชาติไทย มันไม่เหมือนกับการเชียร์ศิลปินนักร้องนะ ผมมาทำงานตรงนี้ ผมไม่ได้มาทำงานเพื่อให้ใครมาชอบ ผมมาทำงานเพื่อหวังว่า ทีมชาติไทย จะประสบความสำเร็จ”
“ชีวิตของผม ผ่านอะไรมาหลายอย่าง ผมว่านักฟุตบอลสมัยนี้ ต้องอดทนกับคำด่า หรือกดดันกับความคาดหวังพอสมควรนะ บางครั้งชนะก็บอกว่า ชนะทีมอ่อน บางครั้งแพ้ ก็ถูกซ้ำเติมซะจมดิน พวกเราบอกตัวเองด้วยคำว่า “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร” โดนด่าแค่ไหนก็ไม่เป็นไรบ่อยมากเลยนะครับ”
“ทั้งที่จริงๆ พวกเรานักฟุตบอล อาจจะอยากได้แค่คำว่า สู้ๆ นะ เพื่อให้นอนหลับ และพร้อมจะลุกขึ้นมาลุยต่อในวันพรุ่งนี้”
… นี่แหละชีวิตของผู้ชายที่ชื่อว่า สรรวัชญ์ เดชมิตร
ชีวิตที่สามารถบอกกับคุณได้ว่า
หากคุณไม่ตั้งใจกับชีวิต
ชีวิตจะเล่นงานคุณ
แต่หากคุณตั้งใจกับมันสักตั้ง
สิ่งที่เหลืออยู่ในตอนสุดท้าย
จะไม่ใช่ความล้มเหลวอย่างเช่นที่เคยเป็นมา..
ที่มา : FB จอน